วัดไทรงามธรรมธราราม ต.ดอนมะสังข์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000
ศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐาน, ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ, สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุพรรณบุรี แห่งที่ ๕
เชิญบวชเนกขัมมะ บวชพระ บวชชี อบรมปฏิบัติธรรม ได้ทุกวัน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 035-522005, 035-451476
 
 
Homepage | Photos | Download | Map | Calendar | Sitemap | Contact | Spaces | SkyDrive English English
 
 
พระครูภาวนานุศาสก์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ ฯ
» ประวัติพระครูภาวนานุศาสก์
» เสียงอ่านประวัติพระครู ฯ
» เสียงพระครูเทศน์ ๑
» เสียงพระครูเทศน์ ๒
» รวมภาพละสังขาร
» รายนามพระลูกศิษย์ในพระคุณท่าน
» รวมภาพพระครู ฯ บน SkyDrive
การสร้างวัดไทรงาม
» ประวัติการสร้างวัดไทรงาม
» พระอุโบสถวัดไทรงาม
» ศาลาปฏิบัติธรรม (ธมฺมธโรนุสรณ์ ๘๐ ปี)
» กุฏิถ้ำ และป่าไทร ในบริเวณวัด
» ความรู้เรื่องต้นสาละ
รวมภาพวัดไทรงาม
» ภาพบริเวณวัด
» ภาพวัดและภาพกิจกรรมบน SkyDrive
» ภาพศพสต๊าฟวัดไทรงาม
» ภาพศพอสุภกัมมัฏฐาน
แนวทางการปฏิบัติธรรม
» การฝึกอานาปานสติ
» การฝึกอิริยาบถนั่ง
» การฝึกอิริยาบถยืน
» การฝึกอิริยาบถเดิน
» การฝึกอิริยาบถนอน
» การฝึกอิริยาบถย่อย
รวมสื่อธรรมะ
» หนังสือธรรมะ
» ซีดีธรรมะ
» Video ประวัติวัดไทรงาม
» Video ธรรมะทั่วไป
เกี่ยวกับวัดไทรงาม
» เจ้าอาวาสวัดไทรงามรูปปัจจุบัน
» กิจวัตรประจำวัน
» เส้นทางเดินบิณฑบาต
» โรงเรียนพระปริยัติธรรม
» งานประชุมธรรมวิสาขบูชารำลึกประจำปี
» งานทอดกฐิน ประจำปี
» กิจกรรมเนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี
» กิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
การขอบวชเนกขัมมะ ไม่ปลงผม
» หลักฐานการขอบวชเนกขัมมะ
» คำขอบวชเนกขัมมะ
» ตารางงานบวชเนกขัมมะ ประจำปี
การขอบวชเป็นพระภิกษุ
» หลักฐานการขออุปสมบท
» ใบสมัคร ขออุปสมบท ปริ๊นได้
» คำขออุปสมบทแบบอุกาสะ ไว้ท่อง
การขอบวชชี
» หลักฐานการขอบวชชี
ความรู้เรื่องต้นสาละ

ต้นสาละและต้นลูกปืนใหญ่ พันธุ์ไม้ต่างชนิดกันแต่เข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยบังเอิญ (รศ.ดร. นริศ ภูมิภาคพันธ์)

นำเรื่อง

ความสับสนระหว่างต้นไม้ 2 ชนิด คือ ลูกปืนใหญ่ (Cannon Ball Tree; Couroupita guianensis Aubl.) บางครั้งเรียกว่า สาละลังกา เป็นพันธุ์ไม้ ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ต่อมามีผู้นำไปปลูกในดินแดนต่างๆ รวมทั้งประเทศศรีลังกา กระทั่งมีการนำจากศรีลังกาเข้ามาปลูกในประเทศไทย เราสามารถพบเห็นปลูกตามวัดต่างๆ ในประเทศไทย และติดป้ายว่าเป็น สาละ (Sal; Shorea robusta C.F. Gaertn.) ซึ่งผมมีโอกาสได้พบเห็นหลายครั้งทั้งวัดในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัดปลูกต้นลูกปืนใหญ่ ในบริเวณลานวัด และบรรยายความรู้ว่าเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาประทับก่อนดับขันปรินิพพาน และเมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ผ่านเข้าไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวข้องกับสาละ (Sal; Shorea robusta) ได้พบเห็นแต่ภาพของต้นลูกปืนใหญ่ แฝงอยู่ในชื่อของสาละ (Sal; Shorea robusta) มีอยู่ค่อนข้างมาก และมีภาพที่ถูกต้องจริงๆ อยู่น้อยมาก นั่นหมายถึงการกระจายข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนออกไปค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียต่อผู้รับข่าวสาร และข้อมูล และกระทบต่อความรู้ในพุทธประวัติ เรื่องนี้น่าที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตามความจริง

ความรู้เรื่องต้นสาละ กับพระพุทธองค์

โดยนัยของต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติที่กล่าวว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันปรินิพพาน ใต้ ต้นซาล หรือสาละ ในเมืองกุสินารา ป่าซาล หรือป่าสาละ (Sal forest) ซึ่งเป็นป่ายางผลัดใบ (Dry dipterocarp forest) คล้ายกับป่าเต็งรัง ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พบว่ามี ไม้ซาล เป็นไม้เด่นประจำป่า นอกจากนั้นหลายๆ หลายบทความที่อ่านพบ หรือนำเผยแพร่ใน Internet ได้อธิบายลักษณะต่างๆ ของสาละได้ถูกต้องในชนิดของ สาละ (Sal; Shorea robusta) แต่พบว่าการเลือกใช้ภาพประกอบเป็นชนิด ต้นลูกปืนใหญ่ การนำต้นลูกปืนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงทั้งในเรื่องพุทธประวัติ และเขตการกระจายทางพฤกษภูมิศาสตร์ (Plant Geography) ของไม้ลูกปืนใหญ่ ซึ่งมิได้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศเนปาล อินเดีย และศรีลังกาแต่ประการใด แต่อยูไกลถึงทวีปอเมริกาใต้

มีหลายท่าน เช่น วัฒน์ (2550) พยายามที่จะสื่อให้ความรู้นี้ ในรูปบทความ และเผยแพร่ในสื่อตาม Website แต่ยังไม่แพร่หลาย จึงขอนำมากล่าวไว้อีก ครั้ง และสามารถ คลิกเข้าไปอ่านหรือชมภาพได้ตาม Website ต่างๆ ที่ได้ Link ไว้ในบทความนี้ ละเอียดของต้นไม้ 2 ชนิด มีดังนี้

1. ลูกปืนใหญ่ หรือสาละลังกา
ชื่อสามัญเรียก Cannon Ball Tree
ชื่อพฤษศาสตร์ Couroupita guianensis Aubl.
วงศ์ Lecythidaceae


[ดอกและลำต้น ลูกปืนใหญ่หรือสาละลังกา]

ลักษณะพืช เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร เรือนยอดกลมหรือรูปไข่หนาทึบ เปลือกต้นขรุขระตกสะเก็ดเป็นร่อง คล้ายหนามตามลำต้น เปลือกสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ลักษณะใบยาวรูปหอกหรือรูปไข่ ขอบใบจักสั้น ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามลำต้น ช่อดอกยาว ปลายช่อโน้มลงกลีบดอกหนา 4-6 กลีบ กลีบค่อนข้างแข็ง ดอกตูมจะเป็นสีเหลือง เมื่อบานดอกจะมีสีแดง หรือสีชมพูอมเหลือง กลิ่นหอมฉุน ออกดอกเกือบตลอดปี ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกแข็ง ลักษณะคล้ายลูกปืนใหญ่สมัยโบราณ มีเมล็ดจำนวนมาก ชอบแดดจัด น้ำปานกลาง ดอกมักดกมากในช่วงหน้าฝน ดอกบานและร่วงในวันเดียว ตอนเย็น

2. ซาล, สาละ
ชื่อพฤษศาสตร์ Shorea robusta C.F. Gaertn.
ชื่อสามัญ Shal, Sakhuwa, Sal Tree, Sal of India
วงศ์ Dipterocarpaceae



[ใบ ดอก และป่าต้นสาละ]

ถิ่นกำเนิด พบในประเทศเนปาล และพื้นที่ทางเหนือของประเทศอินเดีย มักขึ้นเป็นกลุ่ม ในบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ยาง พบมากในลุ่มน้ำยมุนา แถบแคว้นเบงกอลตะวันตก และแคว้นอัสสัม ลักษณะพืช เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง เป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ปลายกิ่งมักจะลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ใบ เดี่ยว ดกหนาทึบ รูปไข่กว้าง โคนใบเว้าเข้า ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ผิวใบเป็นมันขอบใบเป็นคลื่น ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล เป็นผลชนิดแห้ง แข็ง มีปีก 5 ปีก ปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก บนแต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก 10-15 เส้น

สาละเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีประโยชน์มาก ชาวอินเดียนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน รวมถึงทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนเมล็ดนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำอาหาร เช่น ทำเนย และใช้เป็นน้ำมันตะเกียง รวมทั้งใช้ทำสบู่ด้วย

สรรพคุณด้านสมุนไพรของต้นสาละ พบว่ายาง สามารถใช้เป็นยาสมานแผล ยาห้ามเลือด ใช้แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง โรคซิฟิลิส โกโนเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง บิด โรคหูอักเสบ เป็นต้น ผล ใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น

ที่มา : http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=maipradab&topic=4782

ทางออกเบื้องต้นสำหรับการแก้ไขปัญหานี้

สาละ และลูกปืนใหญ่ พันธุ์ไม้ต่างชนิดกัน และมีถิ่นกำเนิดพบกระจายอยู่ห่างไกลต่างทวีปกัน แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยบังเอิญ เนื่องจากความเข้าใจผิดในชื่อเรียกขาน ปัจจุบันความเข้าใจดังกล่าวได้แพร่กระจายออกไปไกล ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้น่าจะช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และตามวัดต่างๆ ที่ปลูกต้นลูกปืนใหญ่ หรือที่เรียกและรู้จักในชื่อ สาละลังกา เป็นพันธุ์ไม้ที่มิได้เกี่ยวข้องใดใดกับพุทธประวัติ อาจเปลี่ยนป้ายที่บรรยายว่าเป็นพันธุ์ไม้จากทวีปอเมริกาใต้ มีชื่อพ้องกับสาละอินเดีย เพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป หรืออาจเสาะหา สาละ (Shorea robusta C.F. Gaertn.) มาปลูกเปรียบเทียบด้วย เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชนผู้พบเห็น สุดท้ายนี้ ท่านผู้ใดที่มีต้นสาละ (Shorea robusta C.F. Gaertn.) น่าที่จะนำไปถวายวัด เพื่อปลูกเป็นต้นไม้แห่งความรู้ที่เป็นวิทยาทานที่ถูกต้องต่อไป น่าจะเป็นกุศล และเป็นประโยชน์ไม่น้อย

เอกสารอ้างอิง และสิ่งอ้างอิง

วัฒน์. 2550. ข้อแตกต่างระหว่างต้นบัวสวรรค์ ต้นสาละลังกา ต้นสาละอินเดีย. Available source: http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=maipradab&topic=4782 http://www.geocities.com/indiatrees/talforest.jpg http://www.thummada.com/cgi-bin/iB315/ikonboard.pl?act=Print;f=9;t=1671 http://www.tradewindsfruit.com/cannonball_tree_pictures.htm http://www.treknature.com/gallery/Asia/Malaysia/photo9564.htm


โพธิญาณพฤกษา : ต้นสาละใหญ่ (ต้นมหาสาละ) พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้

ต้นสาละใหญ่ (ต้นมหาสาละ)

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โกณฑัญญพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 พระนามว่า พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สาละใหญ่

ต้นสาละใหญ่ (ต้นสาละอินเดีย) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Shorea robusta Roxb." อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae ในภาษาบาลีเรียกว่า "ต้นมหาสาละ" มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียทางเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเนปาล มักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตามบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น ชาวอินเดียเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ซาล" (Sal, Sal of India) เป็นไม้พันธุ์ที่อยู่ในตระกูลยาง มีมากในแถบแคว้นเบงกอล อัสสัม ลุ่มน้ำยมุนา เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 10-25 เมตร และสามารถสูงได้ถึง 35 เมตร ไม่ผลัดใบ

เป็นไม้ที่มีความสง่างาม ด้วยว่ามีลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นร่องสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบดกหนา รูปไข่ ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้น ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ดอกจะออกในช่วงต้นฤดูร้อน มีสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ผลแข็ง มีปีก 5 ปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

สาละใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีประโยชน์มาก ชาวอินเดียมักนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน รวมถึงทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนเมล็ดนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำอาหาร เช่น ทำเนย และใช้เป็นน้ำมันตะเกียง รวมทั้งใช้ทำสบู่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรด้วย คือ ยางใช้เป็นยาสมานแผล ยาห้ามเลือด ใช้แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง โรคซิฟิลิส โกโนเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง บิด โรคหูอักเสบ เป็นต้น, ผลใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น

สมัยก่อนคนไทยเข้าใจกันว่า ต้นสาละใหญ่เป็นต้นเดียวกับ ต้นรัง ที่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Shorea siamensis Miq." และใช้ในความหมายเดียวกันในพุทธประวัติ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ส่วนที่แตกต่างกันที่เด่นชัดคือ ต้นสาละใหญ่มีใบแก่ที่ร่วงหล่นเป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้จำนวน 15 อัน เส้นแขนงใบย่อยมี 10-12 คู่ ผลมีเส้นปีก 10-12 เส้น มีขนสั้นรูปดาวปกคลุมประปราย ส่วนต้นรังใบแก่มีสีแดง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เส้นแขนงใบย่อยมี 14-18 คู่ ผลมีเส้นที่ปีก 7-9 เส้น และไม่มีขนปกคลุม


[ภาพดอกสาละ]

รวมทั้งยังเข้าใจว่า ต้นสาละใหญ่เป็นต้นเดียวกับ ต้นสาละ (ลังกา) หรือต้น ลูกปืนใหญ่ หรือต้นแคนนอนบอล ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Couroupita guianensis Aubl." มีดอกขนาดใหญ่สีแดงอมส้ม ซึ่งมีผู้นำมาจากประเทศศรีลังกา และได้รับการบอกเล่ามาว่าเป็นต้นสาละ ดังนั้น ในบางแห่งจึงได้เขียนบอกไว้ว่า ต้นสาละ (ลังกา) เพื่อป้องกันความสับสนนั่นเอง

ในประเทศไทย หลวงบุเรศรบำรุงการ ได้นำเอาต้นสาละใหญ่หรือต้นซาลมาถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถ 2 ต้น กับได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 อีก 2 ต้น ในจำนวนนี้ได้ทรงปลูกไว้ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 ต้น กับทรงมอบให้วิทยาลัยเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต.กระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีก 1 ต้น

อาจารย์เคี้ยน เอียดแก้ว และอาจารย์เฉลิม มหิทธิกุล ก็ได้นำต้นสาละใหญ่มาปลูกไว้ในบริเวณคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และที่ค่ายพักนิสิตวนศาสตร์ สวนสักแม่หวด อ.งาว จ.ลำปาง

พระพุทธทาสภิกขุ ก็ได้นำมาปลูกไว้ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และนายสวัสดิ์ นิชรัตน์ ผู้อำนวยการกองบำรุง ก็ได้นำมาปลูกไว้ในสวนพฤกษศาตร์พุแค จ.สระบุรี ซึ่งต่างก็มีความเจริญงอกงามดี และคาดว่าคงจะให้ผลเพื่อขยายพันธุ์ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นในเวลาอันควร

ต้นสาละอินเดียกับพระพุทธศาสนา

สาละ เป็นคำสันสกฤต อินเดียเรียกต้นสาละใหญ่ว่า "Sal" เป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้

ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ

ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา ทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการ ณ กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ (ที่การคลอดบุตร ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านพ่อ-แม่ของฝ่ายหญิง) เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า "สวนลุมพินีวัน" เป็นสวนป่าไม้ "สาละใหญ่"

พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท (ปัจจุบันคือตำบล "รุมมินเด" แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละใหญ่ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์ วันเพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"



[ต้นโพธิ์ Bohd tree (ลังกา) ส่วนประเทศอินเดียเรียก Pipal tree ]

ตอนก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้และแสดงธรรมเทศนา

เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจุอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชลาได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฏว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละใหญ่ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ร่มเงาต้นโพธิ์ และได้ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุณยามสาม ณ วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ครั้นวันเพ็ญเดือน 8 สองเดือนหลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จมาถึงบริเวณป่าสาละใหญ่อันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวันหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัยจึงเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ตอนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก ได้เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เป็นเวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญเดือน 6 วันสุดท้ายก่อนการกำเนิดพุทธศักราช ได้ประทับในบริเวณสาลวโณทยาน พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น แล้วพระองค์ก็ทรงเอนพระวรกายลง ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยา คือการนอนครั้งสุดท้าย โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน



[ภาพถ่าย ๓ ภาพ] ต้นสาละที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน




[ภาพถ่าย ๒ ภาพ] ต้นสาละที่วัดเบญจมบพิตร เป็นต้นที่ในหลวงทรงปลูกไว้เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๖
มาให้ดูครับ ต้นยังไม่ใหญ่ ยังไม่มีดอก เป็นหลักฐานว่าคือต้นสาละ

ต้นลูกปืนใหญ่ หรือ ต้นสาละลังกา (Cannon-ball Tree)

ต้นลูกปืนใหญ่ หรือ ต้นสาละลังกา หรือต้นแคนนอนบอล (Cannon-ball Tree) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Couroupita guianensis Aubl." เป็นพืชอยู่ในวงศ์จิก วงศ์ Lecythidaceae (ปัจจุบัน จิกอยู่ในวงศ์ Barringtoniaceae)

ต้นลูกปืนใหญ่ หรือ สาละลังกา มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศ Guiana และประเทศอื่นๆ ในแถบทวีปเอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำอเมซอน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะในสวนพฤกษศาสตร์

เป็นพันธุ์ไม้นำมาจากประเทศคิวบา ศรีลังกาได้นำมาปลูกประมาณปี พ.ศ.2422 ส่วนประเทศไทยปลูกเมื่อปี พ.ศ.2500 เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบสูง 15-25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยวออกเวียนสลับตามปลายกิ่งรูปใบหอกกลับ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ มน ขอบใบจักตื้นๆ

ดอกช่อใหญ่ ยาว ออกตามโคนต้น ดอกสีชมพูอมเหลืองและแดง กลิ่นหอมแรง ออกเป็นช่อใหญ่ตามลำต้น กลีบดอก 4-6 กลีบ แข็ง หักง่าย เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. โคนของเกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นรูปโค้ง ผลกลม ใหญ่สะดุดตา ผลแห้งเปลือกแข็ง ผิวสีน้ำตาลปนแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 ซม. ผลสุกมีกลิ่นเหม็น ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ ออกดอกเกือบตลอดปี ต้องการแสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขึ้นได้ดีในดินทุกประเภท

ต้นลูกปืนใหญ่ หรือต้นสาละลังกา กับพระพุทธศาสนา

ถือว่าเป็นต้นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา เนื่องจากชาวลังกาเห็นว่าดอกมีลักษณะสวยและมีกลิ่นหอมจึงนำไปถวายพระ อีกทั้งนิยมปลูกภายในวัดมากกว่าตามอาคารบ้านเรือน

............................................................

ที่มา ::
1. ผู้จัดการออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2548 14:35 น.
2. http://www.rspg.thaigov.net/

ข้อมูลเพิ่มเติม > หน้า ๒ | หน้า ๓

 
 
Powered by Phranarong Panyadharo & Teams. Webhosting by WebSmooth.net ขึ้นบนสุด